ทุกคนคงเคยได้ยินข่าวกันมาบ้าง เกี่ยวกับเกย์ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีไปมีเซ็กส์แบบไม่ป้องกัน เพราะเชื้อไวรัสในร่างกายอยู่ในระดับ “ตรวจไม่พบ” นี่คือสิ่งที่คุณควรรู้ว่าหมายความว่าอย่างไร
1. คนที่มีเชื้อเอชไอวีแต่ตรวจไม่พบเชื้อไวรัสแล้วสามารถถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีได้หรือไม่?
ไม่ได้ ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสจนตรวจไม่พบเชื้อไวรัสในกระแสเลือดเป็นระยะเวลาอย่างน้อยหกเดือนมีความเสี่ยงในการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีไปยังคู่นอนในระดับที่ “ไม่ต้องคำนึงถึง”
“ไม่ต้องคำนึงถึง” ในที่นี้หมายความว่าน้อยมากจนไม่ต้องนำมาใส่ใจ หรือไม่มีขนาดมากพอที่ต้องนึกถึง
ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญด้านเอชไอวีและนักการสาธารณสุขจึงพูดถึงความเสี่ยงระดับนี้ว่า “ไม่ถ่ายทอด” “ไม่ติดต่อ” “ความเสี่ยงเป็นศูนย์” “ไม่มีความเสี่ยงในการถ่ายทอดเชื้อ” หรือ “ถ่ายทอดเชื้อไม่ได้”
2. ไวรัสระดับ “ตรวจไม่พบ” และการ “กดไวรัส” คืออะไร
ระดับไวรัสหมายถึงปริมาณเชื้อเอชไอวีในกระแสเลือดของผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ โดยทั่วไป ยิ่งมีระดับไวรัสสูงเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสในการถ่ายทอดมากขึ้น ทั้ง ไวรัสระดับ “ตรวจไม่พบ” และการ “กดไวรัส” คือ ระดับไวรัสที่ต่ำมากจนถือได้ว่าเหมือนกัน ทั้งสองคำมักใช้สลับกันได้ในการสื่อสารด้านสาธารณสุข
- ไวรัสระดับ “ตรวจไม่พบ” : ยาต้านไวรัสสามารถลดระดับไวรัสในเลือดลงจนถึงจุดที่ต่ำมาก (โดยทั่วไปคือน้อยกว่า 40 ขึ้นอยู่กับประเภทชุดตรวจ) จนกระทั่งเครื่องมือไม่สามารถตรวจพบไวรัสได้ 2 นี่คือสถานะที่เรียกว่า “ตรวจไม่พบ” ซึ่งป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี และช่วยให้สุขภาพของผู้อยู่ร่วมกับเชื้อดีขึ้นด้วย 1 แต่ไม่ได้หมายความว่าเชื้อไวรัสหมดสิ้นไปจากร่างกาย หรือหายขาดจากเอชไอวีโดยสิ้นเชิง ดังนั้น การมีวินัยในการกินยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเรื่องสำคัญในการรักษาสภาวะเช่นนี้ไว้
- ภาวะกดไวรัส: เมื่อยาต้านไวรัสสามารถลดเชื้อไวรัสได้ต่ำลงจนน้อยกว่า 200 ต่อมิลลิลิตร จะเรียกว่าอยู่ในภาวะกดเชื้อไวรัสได้สำเร็จ ซึ่งป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี และช่วยให้สุขภาพของผู้อยู่ร่วมกับเชื้อดีขึ้นด้วย 1 การศึกษาต่างๆ แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่กดเชื้อไวรัสได้สำเร็จไม่สามารถถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีไปยังคู่ได้ การมีวินัยในการกินยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเรื่องสำคัญในการรักษาสภาวะเช่นนี้ไว้
สำหรับในแคมเปญรณรงค์ U=U คำว่า “ตรวจไม่พบเชื้อ” จะใช้ในความหมายเดียวกันสลับกันได้กับคำว่า “กดเชื้อไวรัส”
3. มีหลักฐานอะไรสนับสนุนบ้าง?
ข้อสรุปนี้มาจากการศึกษาหลายการศึกษา ซึ่งรวมถึงการศึกษาล่าสุด ที่ใช้ชื่อว่า PARTNER ที่ศึกษาการมีเซ็กซ์รวมทั้งสิ้น 58,000 ครั้งระหว่างผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีที่ตรวจไม่พบเชื้อไวรัสกับคู่ที่ไม่มีเชื้อเอชไอวี แล้วพบว่าไม่มีการถ่ายทอดเชื้อเลยแม้แต่ครั้งเดียว นอกจากนี้ ตั้งแต่เริ่มมีการใช้การรักษาแบบยาสูตรผสมหลายขนานพร้อมกัน ยังไม่เคยมีรายงานยืนยันว่ามีการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากผู้ที่ตรวจไม่พบเชื้อแล้ว
4. ความเสี่ยงเป็นศูนย์เลยหรือเปล่า?
ในโลกความเป็นจริง พูดได้เลยว่าความเสี่ยงเป็นศูนย์ ส่วนในทางทฤษฎีนั้นความเสี่ยงนับได้ว่าเป็นเศษส่วนกะจิ๊ดริ๊ดใกล้ศูนย์ ที่เป็นอย่างนี้เพราะการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ไม่มีทางพิสูจน์ว่าความเสี่ยงเท่ากับศูนย์ได้ แต่การวิเคราะห์ทางสถิติบ่งชี้ว่า ค่านั้นจะใกล้ศูนย์มากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น นักวิจัยจึงเห็นพ้องกันว่า เนื่องจากความเสี่ยงเป็นศูนย์หรือใกล้กับศูนย์มาก จึงถือว่าผู้ตรวจไม่พบเชื้อแล้ว ไม่มีความเสี่ยงที่จะทำให้คู่นอนติดเชื้อ
5. ทำไมจึงมีคนบางกลุ่มบอกว่าการตรวจไม่พบเชื้อลดความเสี่ยงได้ 93-96%?
ข้อมูลนี้เป็นความคลาดเคลื่อนที่ได้ยินบ่อยในการรายงานผลการศึกษา HPTN 052 ซึ่งการศึกษานี้พิจารณาความเสี่ยงในการถ่ายทอดเชื้อนับตั้งแต่วันแรกที่ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีเริ่มรับการรักษา สาเหตุที่ลดความเสี่ยงได้ 96% (ซึ่งมาจากผลก่อนสิ้นสุดการศึกษา) และ 93% (ผลเมื่อสิ้นสุดการศึกษา) เป็นเพราะมีการถ่ายทอดเชื้อก่อนที่ยาต้านไวรัสจะมีโอกาสกดเชื้อไวรัสได้สำเร็จ และเพราะการรักษาไม่ได้ผลเท่าที่ควรในกลุ่มผู้เข้าร่วมในการศึกษาจำนวนเล็กๆ แต่ถ้าพิจารณาผลเกี่ยวกับการถ่ายทอดเชื้อหลังได้รับยาต้านไวรัสจนครบหกเดือนแรก แล้วจะพบว่าการถ่ายทอดเชื้อลดลง 100% นั่นคือไม่มีการถ่ายทอดเชื้อเลย
6. รักษาเพื่อป้องกัน (Treatment as prevention) หมายความว่าอย่างไร?
หมายถึง การใช้ยาต้านไวรัสลดความเสี่ยงของการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีไปยังคู่นอนหรือผู้ใช้เข็มร่วมกัน หรือไปยังเด็กทารกแรกเกิด ยาต้านไวรัสช่วยลดปริมาณไวรัสในเลือด น้ำอสุจิ ของเหลวในช่องคลอด และในทวารหนักให้อยู่ในระดับที่ต่ำมาก จึงเป็นการลดการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี นอกจากนี้เมื่อเชื้อไวรัสในกระแสเลือดลดลงจนอยู่ในระดับตรวจไม่พบ ความเสี่ยงในการถ่ายทอดเชื้อผ่านเซ็กซ์ก็นับว่าต่ำจนไม่ต้องคำนึงถึง
7. คนที่เริ่มรับการรักษาเอชไอวีจะไปถึงระดับตรวจไม่พบเชื้อและอยู่อย่างนั้นทุกคนหรือเปล่า?
เกือบทุกคนที่เริ่มรักษาด้วยยาต้านไวรัสจะเจอสูตรยาที่ได้ผลภายในหกเดือน ประมาณหนึ่งในหกอาจต้องใช้เวลาเพิ่มเติมเพื่อหาการรักษาที่เหมาะสม เนื่องจากปัญหาไม่สามารถกินยาได้ตามที่แพทย์สั่ง การกินยาตามที่แพทย์สั่งและคอยตรวจเชื้อไวรัสเป็นประจำเป็นสิ่งที่จำเป็นในการรักษาสถานะตรวจไม่พบเชื้อ ผู้ที่สามารถรักษาสถานะนี้ไว้ให้ได้มากกว่าหนึ่งปีและกินยาเป็นประจำมีโอกาสน้อยมากในการที่จะมีเชื้อไวรัสเด้งกลับขึ้นมาที่เรียกว่า “การรักษาไม่ได้ผล” หรือ “ล้มเหลวทางไวรัสวิทยา” แต่การรักษาล้มเหลวหลังจากกดเชื้อไวรัสมาได้อย่างต่อเนื่องเป็นปรากฏการณ์ที่หายากมากและเกือบทั้งหมดมาจากย่อหย่อนวินัยในการกินยา
8. สิ่งที่เรียกว่าไวรัส “วูบ” เพิ่มโอกาสในการถ่ายทอดเชื้อหรือไม่?
ยังไม่มีการศึกษาใดที่แสดงให้เห็นว่าปรากฏการณ์นี้เพิ่มการถ่ายทอดของเชื้อเอชไอวี การเพิ่มขึ้นของเชื้อเล็กน้อย (50-100) แค่วูบเดียว ที่เรียกว่า ไวรัสวูบ นั้นอาจเกิดขึ้นได้กับผู้ที่กินยาต้านอย่างได้ผลและมีวินัย แต่ก็จะกลับไปสู่สภานะ “ตรวจไม่พบเชื้อ” ได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนการรักษา โดยทั่วไปไม่ได้หมายความว่าการรักษาไม่ได้ผลและไม่จำเป็นต้องกังวลใดๆ ยกเว้นแต่ว่ามีไวาัสวูบปรากฎบ่อยขึ้น
9. การมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีผลต่อโอกาสในการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีหรือไม่?
การมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ไม่มีผลมากนักต่อการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี เมื่ออยู่ในสถานะตรวจไม่พบ แต่ถ้ายังตรวจเชื้อไวรัสพบ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อาจเพิ่มความเสี่ยงในการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีได้
10. ทำไมบางคนจึงยังตรวจเจอเชื้อไวรัส?
ในหลายประเทศทั่วโลกยังมีปัญหาการเข้าถึงบริการสาธารณสุข การรักษา และการตรวจระดับเชื้อไวรัส บางคนที่เข้าถึงการรักษาได้อาจเลือกจะไม่รับการรักษา หรือยังไม่พร้อมที่จะเริ่มต้น บางคนเริ่มการรักษาแล้วแต่ประสบปัญหาในการกินยาอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น การตีตรา สุขภาพจิต การเสพสารเสพติด ปัญหาเรื่องที่อยู่ หรือความสามารถในการซื้อยา สิ่งแวดล้อมไม่เป็นมิตร เชื้อดื้อยา และ/หรือทนผลข้างเคียงของยาไม่ไหว
ผู้ที่มีระดับไวรัสต่ำแต่ยังตรวจพบก็ไม่สามารถถ่ายทอดเชื้อได้ เช่น ผู้ที่สามารถกดเชื้อไวรัสได้ (ต่ำกว่า 200 ต่อมิลลิลิตร) แต่ยังตรวจพบ (มากกว่า 40 ต่อมิลลิลิตร ขึ้นอยู่กับชุดทดสอบ) ก็ไม่สามารถถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีได้ การศึกษาใหญ่ในเรื่องนี้เป็นการศึกษาการถ่ายทอดเชื้อความเสี่ยงของการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากผู้ที่กดเชื้อไวรัสได้ (น้อยกว่า 200)
สำหรับผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีที่ยังกดเชื้อไวรัสไม่ได้หรือยังตรวจพบเชื้ออยู่ ก็ยังมี ทางเลือกอื่นๆ ที่ได้ผลในการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อ เช่น ถุงยางอนามัย และ PrEP ซึ่งสามารถใช้แยกกันหรือร่วมกันได้เพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี ทั้งนี้ ทุกคนที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ไม่ว่าจะมีระดับเชื้อไวรัสเท่าไหร่ก็ตามมีสิทธิที่จะมีชีวิตที่สมบูรณ์และมีสุขภาพทั้งในด้านสังคม เพศ และการเจริญพันธุ์
11. ควรตรวจระดับไวรัสบ่อยแค่ไหน ?
สำหรับผู้ที่ตรวจเชื้อไวรัสไม่พบจนอยู่ตัวแล้ว ปกติแนะนำให้ตรวจระดับไวรัสเป็นประจำเพื่อประโยชน์ทางสุขภาพสองถึงสี่ครั้งต่อปี ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีที่ใช้สถานะตรวจไม่พบเชื้อเป็นวิธีป้องกันการถ่ายทอดเชื้อควรปรึกษาแพทย์ว่าควรตรวจบ่อยขึ้นหรือไม่
12. ทำอย่างไรถ้าตรวจไม่พบเชื้อในเลือด แต่พบในน้ำอสุจิ ของเหลวในช่องคลอดหรือทวารหนัก ?
นักวิทยาศาสตร์พบว่าการรักษาเอชไอวีที่ทำให้ตรวจไม่พบเชื้อในเลือด โดยปกติจะนำไปสู่การตรวจไม่พบเชื้อไวรัสในน้ำอสุจิ ของเหลวในช่องคลอดและทวารหนักด้วย แต่บางครั้งมีผู้ที่ตรวจเชื้อไวรัสไม่พบในเลือดแต่พบในน้ำอสุจิ ของเหลวในช่องคลอดหรือน้ำในทวารหนัก ซึ่งไม่พบว่าเพิ่มความเสี่ยงในการถ่ายทอดเชื้อแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่แสดงว่าระดับเชื้อเอชไอวีในของเหลวเหล่านี้มักพบไม่นานหลังเริ่มรักษาเอชไอวี และแทบจะไม่พบอีกเลยหลังจากตรวจไม่พบเชื้อไวรัสในเลือดเป็นระยะเวลาหนึ่งปีขึ้นไป
13. การกินยาต้านเอชไอวีมีผลข้างเคียงหรือไม่?
ยาต้านเอชไอวีอาจมีผลข้างเคียงสำหรับบางคน แต่ส่วนใหญ่พอทนไหว โชคดีที่ปัจจุบันมียาต้านเอชไอวีมากมายหลายขนานที่สามารถกินได้โดยไม่มีผลข้างเคียงร้ายแรง ถ้าคุณพบผลข้างเคียง ต้องปรึกษาแพทย์
14. เรื่องนี้มีความหมายอย่างไร ถ้าเป็นผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ?
หมายความว่าถ้าคุณตรวจไม่พบเชื้อแล้วและยังรักษาอยู่อย่างต่อเนื่อง คุณก็จะมีสุขภาพที่ดีมากกว่าถ้าไม่รักษา และคุณไม่จำเป็นต้องเครียดหรือกลัวว่าจะถ่ายทอดเชื้อไปสู่ผู้อื่นระหว่างมีเซ็กซ์อีกต่อไป แต่จำเป็นต้องระลึกไว้ว่าการตรวจไม่พบเชื้อจะช่วยป้องกันคู่ของคุณจากเชื้อเอชไอวีแต่ไม่ได้ป้องกันเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ หรือการตั้งครรภ์
15. เรื่องนี้มีความหมายอย่างไรถ้าฉันถ้าไม่มีเชื้อเอชไอวี?
คุณจะไม่จำเป็นต้องกังวลเกี่ยวกับการได้รับเชื้อไอซีไอวีถ้าคู่ของคุณตรวจไม่พบเชื้อแล้ว แต่จำเป็นต้องระลึกไว้ว่าการตรวจไม่พบเชื้อจะช่วยป้องกันคู่ของคุณจากเชื้อเอชไอวีแต่ไม่ได้ป้องกันเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ หรือการตั้งครรภ์
16. เรื่องนี้มีความหมายอย่างไรต่ออนามัยเจริญพันธุ์ เช่น การตั้งครรภ์และการให้นมลูก?
ความรู้ว่าการตรวจไม่พบเชื้อช่วยป้องกันการถ่ายทอดเชื้อได้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ที่กำลังคิดอยากมีลูกโดยไม่จำเป็นต้องไปคิดหาวิธีอื่นๆ แทน การตรวจไม่พบเชื้อช่วยยังลดความเสี่ยงของการถ่ายทอดเชื้อจากแม่ไปสู่ลูกระหว่างการตั้งครรภ์และการให้นมได้อย่างมหาศาลอีกด้วย
17. ควรหยุดใช้ถุงยางและ/หรือ PrEP หรือเปล่าถ้าอยู่กับคนที่ตรวจไม่พบเชื้อแล้ว?
การตรวจไม่พบเชื้อ การใช้ PrEP และการใช้ถุงยาง ต่างเป็นวิธีป้องกันเอชไอวีที่สามารถเลือกใช้โดดๆ หรือใช้ร่วมกันได้ เราให้ข้อมูลความรู้วิทยาศาสตร์ล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายทอดของเชื้อเอชไอวี เพื่อให้ผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีและคู่สามารถตัดสินใจได้จากข้อมูลว่าวิธีใดดีที่สุดสำหรับตัวเอง บางคนอาจเลือกใช้วิธีป้องกันเอชไอวีหลายวิธีร่วมกันด้วยหลากหลายเหตุผล เช่น เพื่อลดความกังวลเกี่ยวกับการถ่ายทอดเชื้อ เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ หรือถ้าคู่ของตนที่มีเอชไอวีมีเคยกินยาไม่สม่ำเสมอ ทั้งนี้ ถุงยางอนามัยเป็นวิธีเดียวที่ช่วยป้องกันได้ทั้งเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการตั้งครรภ์
18.จำเป็นต้องเปิดเผยสถานะเอชไอวีต่อคู่หรือไม่ถ้าตรวจไม่พบเชื้อแล้ว?
การตรวจเชื้อไม่พบแล้วอย่างน้อยหกเดือนและกินยาต่อเนื่อง หมายความว่าคุณไม่ได้ทำให้คู่ของคุณอยู่ในความเสี่ยง ดังนั้นจึงไม่มีกฎเกณฑ์ทางศึลธรรมข้อใดบังคับให้คุณเปิดเผยสถานะเอชไอวีของคุณ
แต่คุณอาจควรนึกถึงข้อดีและข้อเสียในการเปิดเผยทั้งต่อตัวคุณเองและต่อคู่ของคุณ คู่ของคุณอาจโกรธได้ในภายหลังถ้ารู้สถานะของคุณหลังจากมีเซ็กซ์กันแล้ว และอาจกระทบต่อความสัมพันธ์โดยไม่จำเป็นแม้ว่าจะไม่มีความเสี่ยงในการถ่ายทอดเชื้อก็ตาม นอกจากนี้ยังควรระลึกไว้ว่า ในหลายประเทศมีกฎหมายอาญาเลือกปฏิบัติต่อผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ที่กำหนดให้ต้องเปิดเผยสถานะเอชไอวีของตนแม้ว่าจะไม่มีความเสี่ยงในการถ่ายทอดเชื้อก็ตาม
19. จะเชื่อใจคู่ได้ไหมว่าตรวจไม่พบเชื้อแล้วจริงๆ?
คุณบอกไม่ได้ด้วยสายตาว่าใครมีระดับไวรัสตรวจไม่พบแล้ว เหมือนกับที่บอกไม่ได้ด้วยสายตาว่ามีเชื้อเอชไอวีหรือเปล่า การจะเลือกไว้ใจคู่ของคุณหรือไม่นั้นเป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ และน่าจะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมทางเพศของตัวคุณเองและสถานะความสัมพันธ์ของคุณสองคน ท้ายที่สุดแล้ว ผู้ที่มีเซ็กซ์ด้วยความยินยอมเป็นผู้รับผิดชอบต่อสุขภาพทางเพศของตนเองแต่เพียงผู้เดียว
20. U=U ใช้ได้กับการใช้เข็มร่วมกันด้วยหรือไม่?
U=U ใช้ไม่ได้กับการใช้เข็มร่วมกัน ในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาเพียงพอที่จะสรุปได้