ถึงจะเคยถูกหัวเราะเยาะและบุลลี่ในอดีต แต่วันนี้เยาวชนไทยสีรุ้งได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในการนำขบวนเรียกร้องประชาธิปไตย กลับคืนสู่ประเทศไทย โดยในเวทีประท้วงที่นำโดยนักศึกษาเมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ผ่านมา พิธีกรคนหนึ่งแต่งหญิงขึ้นเวทีหันเข้าหาธงสีรุ้งขนาดใหญ่ที่โบกสะบัดอย่างภาคภูมิอยู่กลางผู้ประท้วงกว่า 20,000 คน

ขบวนการเคลื่อนไหวความหลากหลายทางเพศของไทยเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในปี 2549 เมื่อเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ในกรณีที่กระทรวงกลาโหมเขียนระบุในใบผ่านการเกณฑ์ทหาร ส.ด. 43 ของผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหารที่เป็นหญิงข้ามเพศว่าเป็น “โรคจิตถาวร” และศาลมีคำสั่งตัดสินให้กระทรวงกลาโหมแก้ไขในห้าปีต่อมา
ในปี 2552 เกิดเหตุการณ์เสาร์ซาวเอ็ด เมื่อม็อบการเมืองกลุ่มหนึ่งทำปิดล้อมและขู่ทำร้ายผู้เข้าร่วมเดินขบวนรณรงค์เชียงใหม่เกย์ไพรด์และต่อต้านเอดส์ หลังจากนั้นหนึ่งเดือน นักกิจกรรมความหลากหลายทางเพศและภาคีจึงได้เดินขบวนโบกธงสีรุ้งที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเรียกร้องการยอมรับและสิทธิ และลบล้างความเชื่อที่ว่าไทยเป็น “สวรรค์ของเกย์กระเทย”
เมื่อกระแสสิทธิความหลากหลายทางเพศในระดับโลกเริ่มเข้มข้นขึ้น กลุ่มนักกิจกรรมความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยจึงพุ่งความสนใจในประเด็นสมรสเท่าเทียมในปี 2554 แต่ความพยายามในการผลักดันร่างกฏหมายคู่ชีวิตให้ผ่านสภากลับประสบความล่าช้าอย่างไม่จบไม่สิ้น ด้วยแรงต้านจากอำนาจอนุรักษ์นิยมตลอดจนรัฐบาลที่มีเจตนาควบคุมประชากรกลุ่มนี้มากกว่าจะให้เสรีภาพ
รัฐประหารปี 2557 สร้างความร้าวลึกในขบวนการ LGBT ของไทย ในขณะที่นักกิจกรรมส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นโอกาสดีที่จะผลักดันวาระของตนได้โดยไม่ถูกตรวจสอบตามกระบวนการประชาธิปไตยให้ล่าช้า แต่ยังมีนักกิจกรรมส่วนน้อยที่เหลือที่ปฏิเสธที่จะเป็นองคาพยพให้กับรัฐบาลทหาร แล้วหันไปร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆ ที่มีแนวคิดเดียวกันและพรรคการเมืองใหม่ๆ เพื่อสร้างนักกิจกรรมสีรุ้งรุ่นใหม่

การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปีก่อน ที่ถูกมองว่าอิสระแต่ไม่เป็นธรรม แต่ก็ทำให้มีส.ส. LGBT จากพรรคอนาคนใหม่เข้าสู่สภาถึงสี่คน ช่วยให้ประเด็นการสมรสเท่าเทียมกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งพร้อมกับกระแสสังคมที่ยอมรับมากขึ้น โดยการสนับสนุนมุ่งไปที่การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ว่าด้วยการสมรส ให้เลิกระบุเพศ มากกว่าจะ สนับสนุนกฎหมายคู่ชีวิตที่รัฐบาลเสนอ เพราะเป็นกฎหมายแยกต่างหากและไม่เท่าเทียมอย่างแท้จริง
ในครั้งนี้ นักกิจกรรม LGBT รุ่นใหม่ไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไป เพราะในช่วงห้าปีภายใต้รัฐบาลที่ทหารกุมอำนาจ เยาวชนเหล่านี้ได้สร้างภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะในเรื่องเครื่องแบบและทรงผมนักเรียนที่มีการบังคับเข้มงวดเกินเหตุ และเดินขบวน “#เราไม่ใช่ตัวประหลาด” ไปยังกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเรียกร้องให้ยุติการเลือกปฏิบัติต่อนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ ให้จัดการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษาที่รอบด้านไม่ล้าหลัง และแก้ไขระเบียบเครื่องแบบและทรงผมที่เคร่งครัด

การยุบพรรคอนาคตใหม่ของศาลรัฐธรรมนูญด้วยข้อหาการกู้ยืมเงินผิดปกติในเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้ฐานผู้สนับสนุนของพรรคซึ่งส่วนมากเป็นคนรุ่นใหม่แค้นเคืองเป็นอย่างมาก และเริ่มมีการประท้วงเกิดขึ้นก่อนที่เชื้อโควิด-19 จะทำให้กิจกรรมต่างๆหยุดลงทั่วประเทศ แต่สุดท้ายก็กลับมาอีกครั้งและแรงยิ่งขึ้นห้าเดือนให้หลังเมื่อสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้แล้ว
ในวันที่ 18 กรกฎาคม กลุ่มเยาวชนปลดแอก ซึ่งเป็นกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นโดยคนรุ่นใหม่และหลายคนเป็น LGBT ได้จัดการประท้วงขนาดใหญ่หลังเชื้อโควิดระบาดขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อต่อต้านรัฐบาลที่คอรัปชั่นและไร้สมรรถภาพ หนึ่งในความโกรธแค้นที่รุนแรงที่สุดของพวกเขา คือการหายตัวไปของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมด้านเอชไอวีเอดส์อายุ 38 ปี ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยและเคยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและถูกอุ้มหายไปจากที่พักในประเทศกัมพูชาเมื่อสองเดือนก่อน กลุ่มเยาวชนปลดแอกเรียกร้องให้รัฐบาล 1) ยุติการคุกคามประชาชนโดยเฉพาะผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล 2) ยุบสภาที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้อิทธิพลของส.ว. ที่คณะรัฐประหารเป็นผู้แต่งตั้ง และ 3) ร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อใช้แทนรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ เขียนให้ทหารมีอำนาจได้เปรียบ
หลังจากที่โฆษกรัฐบาลคนหนึ่งเรียกการประท้วงนี้ว่าเป็นม็อบมุ้งมิ้ง ก็ยิ่งทำให้การประท้วงของนักศึกษาผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดทั่วประเทศ รวมถึงการประท้วงในวันที่ 25 กรกฎาคมซึ่งนำโดยกลุ่มเยาวชน LGBT ที่ตระหนักว่าความเท่าเทียมไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยปราศจากประชาธิปไตยที่แท้จริง โดยตั้งชื่อการประท้วงว่า “ม็อบไม่มุ้งมิ้ง,,, แต่ตุ้งติ้งค่ะ คุณรัฐบาล” และใช้การทำสันทนาการและตลกชวนหัว ในการเรียกร้องสิทธิความหลากหลายทางเพศ รวมถึงตอกย้ำข้อเรียกร้องของกลุ่มเยาวชนปลดแอก
การประท้วงเมื่อวันที่ 16 สิงหาคมถือเป็นการประท้วงที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมา และถือเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์เมื่อประเด็นสมรสเท่าเทียมและการไม่เลือกปฏิบัติในการจ้างงานต่อ LGBT ถูกยกขึ้นมาพูดต่อหน้าผู้รับฟัง จำนวนมาก คู่ไปกับประเด็นอื่นๆ เช่น การใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในอดีต การฮุบที่ดินของนายทุน อำนาจทหารในสามจังหวัดชายแดนใต้ และอื่นๆ อีกมากมาย จิตวิญญาณของการลุกขึ้นสู้นี้ได้ขยายไปยังสถานศึกษาทั่วประเทศ โดยนักเรียนจำนวนมากชูสามนิ้ว ถือกระดาษเปล่า และผูกโบว์ขาวเป็นสัญลักษณ์การต่อต้านเผด็จการ
ภายในระยะเวลาแค่สองเดือน นักเรียนนักศึกษาได้จุดประกายการปฏิวัติครั้งใหม่ ด้วยความกล้าหาญอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ความเชื่อมั่ต่อประชาธิปไตยและการไม่เลือกปฏิบัติ และปัญญาที่แหลมคมมองทะลุเห็นถึงความเชื่อมโยงไขว้กันของสิทธิมนุษยชนต่างๆ แม้หลายสิบคนจะถูกจับด้วย มาตรา 116 (และได้ประกันตัวออกมา) แต่ก็ยังมั่นที่จะต่อสู้ เพื่อทวงเอาอนาคตของตนกลับคืนมา แถมยังเรียกชุมนุมประท้วงใหญ่อีกครั้งในวันที่ 19 กันยายนนี้ จนถึงตอนนี้กระแสโต้กลับอาจจะยังไม่รุนแรง แต่ในประเทศที่เคยผ่านการรัฐประหารสำเร็จ 13 ครั้งในระยะเวลา 88 ปี ไม่มีใครบอกได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้

ถึงกระนั้น สำหรับกระบวนการต่อสู้รุ่นเยาว์ที่หยิบยืมสัญลักษณ์ต่างๆ มาใช้อย่างชาญฉลาด ไม่ว่าจะเป็น แฮร์รี่พอตตอร์ Les Misérables หรือแฮมทาโร่ มีอย่างหนึ่งที่แน่นอนที่สุดนั่น คือ เวลาจะเข้าข้างพวกเขา เหมือนอย่างที่กวีชาวชิลีได้ พาโบล เนรูด้า ได้กล่าวไว้อย่างไพเราะว่า ถึงตัดมวลดอกไม้ทิ้งเสียหมด ก็มิอาจหยุดยั้งฤดูใบไม้ผลิไม่ให้มาถึงได้