suk suk film

รีวิวหนัง: Suk Suk (Twilight’s Kiss)

Written by:

Paisarn Likhitpreechakul

Paisarn Likhitpreechakul

Share:

Share on facebook
Share on twitter
Share on whatsapp
Share on linkedin
Share on telegram

ADVERTISMENT

โดย ไพศาล ลิขิตปรีชากุล

หนังบางเรื่องทำให้เราจุกได้อย่างไม่คาดคิด Suk Suk (2019) หรืออีกชื่อหนึ่ง Twilight’s Kiss ในชื่อภาคภาษาไทยว่า “ซุกที่เขาสุขที่ใจ” ก็เป็นหนึ่งในนั้น

ในโลกปัจจุบันที่เรื่องการบุลลี่ การเปิดเผยตัวตน และสมรสเท่าเทียมกลายเป็นประเด็นที่พูดคุยกันทั่วไปในสังคมเกย์ทั่วเอเชีย แต่เกาะฮ่องกงที่ Pak อายุ 70 และ Hoi อายุ 65 ในหนังเรื่องนี้อาศัยอยู่เหมือนจะเป็นโลกอีกใบหนึ่ง ที่เกย์เอเชียรุ่นใหม่คุ้นเคย แต่พยายามแยกออกจากชีวิตของส่วนตัวหรือไม่ก็หันหลังให้โดยสิ้นเชิง

เพราะโลกใบนั้นเป็นโลกที่ความสัมพันธ์ของครอบครัว หน้าที่ และการเสียสละสำคัญกว่าความสุขของทุกคนในครอบครัว รวมกัน และลูกชายลูกสาวทุกคนถูกคาดหวังให้แต่งงานผลิตลูกหลานสืบวงศ์ตระกูล กฎที่ไม่ต้องเขียนเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้ชีวิตของ LGBT ชาวเอเชียแตกต่างกับโลก LGBT ในตะวันตก

Ray Yeung ผู้กำกับฯ ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือOral Histories of Older Gay Men in Hong Kong (ประวัติศาสตร์ปากต่อปากของเกย์สูงวัยในฮ่องกง) โดย Travis Kwong และได้บรรจงเล่าเรื่องราวละเอียดอ่อนของ “ลุง” สองคน (Suk ในภาษากวางตุ้งแปลว่าลุง) ที่ได้มาเจอกันในยามสนธยาของชีวิตเมื่อเป็นปู่เป็นตาคนแล้ว ทั้งสองเป็นคน “รุ่นสูญหาย” ที่มัวยุ่งอยู่กับการทำงานหาเลี้ยงครอบครัวให้มีความเป็นอยู่ดี จนไม่มีโอกาสได้ใช้ชีวิตของตนอย่างแท้จริง

แต่เมื่อมาถึงจุดที่เป็นอิสระมากขึ้นกลับรู้สึกสับสนหลงทาง สำหรับพวกเขาแล้ว ประเด็นอย่างเช่นการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันเป็นสิ่งที่ไม่เคยเยี่ยมกรายเข้ามาในหัว แม้แต่เรื่องบ้านพักเกย์ชราที่นักกิจกรรม LGBT รุ่นใหม่เสนอยังฟังดูประหลาด ในขณะที่พวกเขาถูกขบวนสิทธิ LGBT และโลกออนไลน์ทิ้งไว้เบื้องหลัง ความสุขชั่วแล่นอย่างเดียวที่พอจะมีได้ก็หาได้แค่ในสวนสาธารณะกับห้องน้ำสาธารณะเท่านั้น

Pak และ Hoi พบกันหลังจากแต่งงานอย่างไร้รักมาหลายสิบปี แถม Hoi ยังอยู่อย่างเดียวดายหลังเมียตายไป การพบรักครั้งแรกนี้กลับเป็นเหมือนทั้งพรจากสวรรค์และคำสาปไปพร้อมกัน เพราะแม้ว่าทั้งคู่จะมีความสุขจากความใกล้ชิดและไออุ่นของกันและกัน แต่ก็ไม่สามารถเปิดเผยความสัมพันธ์ให้ใครรู้ ด้วยความกลัวว่ามันจะไปทำลายครอบครัวที่ตัวเองสร้างมาชั่วชีวิตให้แหลกสลายลง แม้จะมีเวลาชั่วขณะที่จำทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหมือนคู่รักทั่วไป เช่น ไปจ่ายตลาดด้วยกัน แต่สถานที่เดียวที่พวกเขามีความเป็นส่วนตัวได้ คือซาวน่าเกย์ ที่ซึ่งคนแปลกหน้าที่เพิ่งเจอกันครั้งแรกเป็นคนกลุ่มเดียวที่พวกเขาเปิดเผยความสัมพันธ์ฉันท์คู่รักได้โดยไม่ถูกตัดสิน

ในงานเลี้ยงแต่งงานลูกสาวของ Pak เราอาจเดาได้ว่าสาเหตุที่ Pak ยินดีจ่ายค่าเงินแทนลูกเขยตกยากที่แม่ยายไม่ชอบหน้า ก็เพราะแอบหวังให้ลูกสาวได้แต่งงานมีความสุขกับคนที่รักในแบบที่ตัว Pak เองไม่มีโอกาสมาก่อน คงมีแค่คนเดียวที่รู้ถึงความรู้สึกนี้ได้ คือ Hoi ที่ถูกแนะนำว่าเป็นเป็นเพื่อนเก่า และนั่งมอง Pak จากอีกมุมหนึ่งของห้องด้วยดวงตาเศร้าสร้อย ฉากงานเลี้ยงที่ทั้งสองคนแกล้งทำเหมือนเป็นแค่เพื่อนกันต่อหน้าครอบครัวทำให้ย้อนนึกถึงWedding Banquet (1993) ภาพยนตร์แนวตลกดราม่าของผู้กำกับอั้งลี่

The Wedding Banquet (1993)

ในตอนท้ายของหนัง ทั้งสองนั่งคู่กันบนม้านั่งหันมองไปยังช่องแคบที่คั่นระหว่างเกาะฮ่องกงกับเกาลูน Pak เล่าให้ Hoi เรื่องเพื่อนสมัยเด็กที่จมน้ำตายตอนที่ว่ายน้ำข้ามมาจากเมืองจีนด้วยกัน ภาพความเวิ้งว้างบนจอเป็นเหมือนอุปมาของความรู้สึกภายในใจของทั้งสองคน Pak เหม่อมองออกไปในท้องทะเล ราวกับกำลังครุ่นคิดว่าตัวเองจะข้ามเวิ้งทะเลที่อยู่ระหว่างเขากับ Hoi ได้สำเร็จ หรือว่าจะจมลงสู่ก้นทะเลเพราะถูกถ่วงด้วยน้ำหนักอันมหาศาลของทางเลือกที่ต้องตัดสินใจในไม่ช้า…

หลังหนังจบและเครดิตขึ้น ผมเดินออกจากโรงหนังด้วยความรู้สึกเหมือนโดนต่อยท้อง เปล่าหรอก ผมไม่ได้รู้สึกว่าอนาคตตัวเองจะตกอยู่ในสถานนะการณ์เดียวกันกับ Pak และ Hoi เพราะคนรุ่นเราโชคดีที่ได้เห็นกำแพงแห่งอคติพังทลายลงไปรอบตัวเรา

แต่หนังเรื่องนี้ทำให้ผมตระหนักว่าเรารู้เรื่องราวการต่อสู้ของ LGBT รอบตัวเราเพียงน้อยนิด และประวัติศาสตร์เหล่านี้แทบไม่มี บันทึกเหลือไว้เลย พวกเราส่วนใหญ่น่าจะรู้เกี่ยวกับการประท้วงสโตนวอลอย่างละเอียดหลายเท่ามากกว่าชีวิตเกย์ในประเทศเราเองเมื่อ 50 ปีก่อน

ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ ตอนที่ผมนึกได้ว่า ผมแทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับความคิดจิตใจของพ่อแม่ที่ทำหน้าที่ต่อครอบครัวจนครบถ้วนสมบูรณ์โดยไม่เคยปริปากเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง ไม่ต่างกับพ่อแม่ชาวเอเชียส่วนใหญ่ รู้สึกเจ็บแปลบในหัวใจเมื่อคิดว่าตัวเองไม่เคยนึกถึงความเสียสละที่พ่อแม่เคยทำให้เรา ในหนัง ลูกชายของ Pak บอกพ่อว่า “ขอให้มีความสุขกับชีวิตในตอนที่ยังทำได้นะ” ผมก็อยากบอกพ่อแม่ว่า “มีความสุขอย่างไหนก็ขอให้ทำตามใจนะ”

Suk Suk จึงไม่ใช่แค่เรื่องราวความรักของเกย์สูงวัยสองคน แต่เป็นสิ่งเตือนความจำที่หวานและขมขื่นให้เราระลึกถึง “ครอบครัว” ที่เรารัก และราคาที่เราต้องจ่าย อย่าลืมชมภาพยนตร์เรื่องนี้ให้ได้ที่ไหนก็ตามที่มีโอกาส.