ถ้าคุณมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อเอชไอวีในช่วง 72 ชั่วโมงที่ผ่านมา คุณควรคิดถึงการใช้ PEP การรักษาด้วย PEP ต้องเริ่มกินยาภายใน 72 ชั่วโมงหลังความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี
แต่จะมีประสิทธิภาพมากที่สุดถ้าเริ่มภายใน 24 ชั่วโมง ยิ่งเริ่มเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งป้องกันการติดเชื้อได้ดียิ่งขึ้น
คุณควรใช้ PEP ถ้ามีปัจจัยข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้:
- คู่นอนของคุณมีเชื้อเอชไอวีและไม่ได้กำลังรักษาอยู่
- มีเซ็กซ์ด้วยการสอดใส่ทางทวารหนักโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย
- การมีเซ็กซ์ทางช่องคลอดโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย
- ถุงยางแตก
- มีเลือดออก
- มีรอยแผลหรือรอยปริ
- ไม่ได้ขลิบอวัยวะเพศ
- สัมผัสกับของเหลวจากภายในร่างกายที่อาจมีเชื้อเอชไอวี
- การสัมผัสเชื้อเกิดขึ้นไม่เกิน 72 ชั่วโมงที่ผ่านมา
- มีคู่นอนที่ไม่รู้สถานะเอชไอวีและอยู่ในกลุ่มเสี่ยง (ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย หรือมาจากแอฟริกาหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)
- คุณเป็นฝ่ายรับ และคุณไม่รู้ว่าฝ่ายรุกมีเชื้อเอชไอวีหรือไม่
อย่างไรก็ดี ถ้าไม่สามารถเริ่มต้น PEP ได้ภายใน 72 ชั่วโมง แต่ผ่านไปแล้ว 5-7 วันตั้งแต่สัมผัสเชื้อ ก็ยังควรปรึกษาแพทย์ถึงทางเลือกที่คุณมี
การใช้ PEP หมายถึงการเริ่มใช้ยาต้านไวรัสผสมกันสามชนิดโดยเร็วที่สุด เผื่อว่าคุณเกิดติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งในกรณีนี้คุณจะเริ่มการรักษาแต่เนิ่นๆ เพื่อลดความเสียหายต่อระบบภูมิคุ้มกัน
PEP ทำงานอย่างไร ?
หลังเข้าสู่ร่างกาย เอชไอวีจะใช้เวลาสองสามวันในการปักหลักในร่างกายของคุณ หลังจากมันปักหลักได้แล้วคุณจะมีเชื้อเอชไอวีไปตลอดชีวิต แต่ถ้าเริ่มกินยา PEP ได้ทันเวลา ยาจะช่วยป้องกันเชื้อเอชไอวีที่อยู่ในร่างกายไม่ให้เพิ่มจำนวน และทำให้เชื้อตายลงก่อนมีโอกาสเพิ่มจำนวน ยา PEP ที่ได้รับอาจช่วยภูมิคุ้มกันของร่างกายในการหยุดเชื้อไวรัสไม่ให้เพิ่มจำนวน ภายในเซลล์ของร่างกายที่ติดเชื้อ และเซลล์เหล่านั้นจะตายลงตามธรรมชาติในช่วงเวลาสั้นๆ โดยไม่ผลิตเชื้อเอชไอวีออกมาเพิ่ม
ถ้ารับเชื้อเข้ามาในร่างกายแล้ว ถือว่าสายเกินไปหรือเปล่า ?
ยังไม่สาย ถ้ารีบแก้ไขสถานการณ์ หลังจากที่เชื้อเอชไอวีเข้าสู่กระแสเลือด มันต้องใช้เวลากว่าที่จะสามารถปักหลักในร่างกายได้อย่างถาวร ถ้าเริ่มกินยา PEP ภายใน 72 ชั่วโมง จะมีโอกาสมากที่จะยับยั้งเชื้อไวรัสไม่ให้ปักหลักในร่างกายได้
ถ้างั้นกิน PEP แล้วก็จะไม่เป็นเลือดบวกใช่ไหม ?
การศึกษาชี้ว่า การกินยา PEP ทำให้โอกาสติดเชื้อเอชไอวีน้อยมาก แต่ PEP ไม่ได้ผลเสมอไป บางครั้งคนที่กิน PEP ก็ยังติดเชื้อ HIV ได้อยู่ดี ทั้งนี้ PEP อาจจะไม่ได้ผล เพราะ:
– ไม่กิน หรือไม่สามารถกินยา PEP ตามที่หมอสั่ง (ทุกวันติดต่อกันเป็นเวลาหนึ่งเดือน) ได้
– ยาติานเอชไอวีบางชนิดไม่ได้ผลต่อเชื้อเอชไอวีบางสายพันธุ์ (เชื้อเอชไอวีดื้อยา แต่พบได้น้อยมาก)
– เชื้อไวรัสที่ได้รับมาในตอนแรกมีจำนวนมากเกินไป ทำให้ยาไม่ได้ผล
อย่างไรก็ตาม ยิ่งเริ่มกินยา PEP หลังสัมผัสเชื้อเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสที่ยาจะได้ผลมากขึ้น
ยา PEP อะไรที่ใช้บ่อยที่สุด ?
หมอมักสั่งยา PEP ที่มีผลข้างเคียงน้อยและป้องกันเอชไอวีได้ดีกว่า ซึ่งต้องกินติดต่อกันเป็นระยะเวลา 28 วัน สำหรับผู้ใหญ่: มักใช้ Tenofovir ร่วมกับตัวใดตัวหนึ่งระหว่าง Tenofovir (TDF) กับ emtricitabine (FTC) เป็นตัวหลัก ซึ่งเป็นยาที่มักใช้ในการรักษาเอชไอวีด้วย แล้วหมอจะเลือกยาตัวที่สามซึ่งองค์การอนามัยโลกและ CDC แนะนำตามความเหมาะสม
มีผู้รับบริการจำนวนมากที่ไม่เข้าใจเวลาที่หมออธิบายเกี่ยวกับ การดื้อยารักษาเอชไอวี ถ้าคุณโชคร้ายไปสัมผัสเชื้อเอชไอวี ยา PEP ทั่วไปอาจไม่สามารถช่วยคุณได้ นั่นคือสาเหตุที่ CDC แนะนำให้ใช้ยารุ่นสูงขึ้นและมีโอกาสที่จะถูกต้านโดยเชื้อเอชไอวีพันธุ์ดื้อยาน้อยกว่า
ยารุ่นสูงนี้มีขายในบางคลินิกแต่มีราคาแพงมากกว่ายา PEP ทั่วไปที่ใช้ในประเทศรายได้ต่ำ ถ้าหมอสั่งใช้ยานี้ก็เพราะประเมินแล้วว่าคุณมีความเสี่ยงสูงมาก จึงพยายามใช้มาตรฐานขั้นสูงเช่นเดียวกับ CDC ของสหรัฐอเมริกา
แล้วทำอะไรได้อีก ?
หมออาจแนะนำให้คุณรักษาเพื่อป้องกันหนองใน คลาไมเดีย ซิฟิลิส หลังจากที่มีเซ็กซ์แบบไม่ป้องกันหรือเกิดอุบัติเหตุทางเพศ
คุณไม่ต้องกินยา PEP ถ้า …
– คุณแน่ใจว่าคู่นอนของคุณไม่มีเชื้อเอชไอวี
– คู่นอนของคุณมีเชื้อเอชไอวีแต่รักษาประสบความสำเร็จ (ตรวจพบไม่พบเชื้อไวรัส)
– รอยกัดจากมนุษย์
– อสุจิคนอื่นเข้าตา
หมอจะถามอะไรบ้าง ?
ก่อนที่จะเริ่มการรักษา หมอจะพยายามประเมินว่า คุณมีโอกาสสัมผัสกับเชื้อเอชไอวีจริงแค่ไหน โดยมักถามว่าอะไรทำให้คุณคิดว่าคุณสัมผัสกับเชื้อเอชไอวี มีกิจกรรมหรือใครที่คุณมีเซ็กซ์ด้วยหรือใช้เข็มร่วมกันที่น่าจะมีเชื้อเอชไอวี
หมอจะถามคำถาม เช่นคุณรู้ไหมว่าคนๆ นั้นมีเชื้อเอชไอวีหรือไม่ (และถ้ามี คุณรู้มั้ยว่าเค้ายังตรวจพบเชื้อไวรัสหรือไม่) และในกรณีที่คิดว่าเป็นไปได้ที่จะมีการสัมผัสเชื้อผ่านการมีเซ็กซ์ ก็จะถามคำถาม เช่น เซ็กซ์แบบไหน (ทวารหนัก ช่องคลอด หรือออรัลเซ็กส์) เป็นรุกหรือรับ หลั่งข้างในหรือข้างนอก หรือมีอะไรอื่นที่คุณกังวล
เป็นเรื่องสำคัญมากที่คุณต้องให้ข้อมูลด้วยความจริงและถูกต้อง –เพราะหมอมีหน้าที่ช่วยคุณ ไม่ใช่มาตัดสินคุณ ข้อมูลที่คุณให้จะช่วยในการประเมินความรุนแรงของสถานการณ์
ความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีจากออรัลเซ็กส์นั้นต่ำมาก ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้กินยา PEP ถ้าสัมผัสเชื้อเอชไอวีผ่านออรัลเซ็กส์ ยกเว้นในกรณีที่ใช้ปากกับคู่นอนที่รู้ว่ามีเชื้อเอชไอวี และคนที่ใช้ปากนั้นมีรอยแผลหรือรอยแตกในปาก
มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง ?
ยา PEP ใหม่ๆ ที่เราใช้นั้นพบผลข้างเคียงได้น้อยมาก คนไข้ของเราที่พบผลข้างเคียงมีน้อยกว่าหนึ่งในร้อยคน ผลข้างเคียงที่พบได้บ้าง (<1%) คือ คลื่นไส้ ท้องเสีย และรู้สึกเหนื่อย ส่วนผื่นและไข้เป็นผลข้างเคียงที่พบน้อยมาก (< 0.1%)
จะจำเวลากินยา PEP ได้ยังไง ?
ต่อไปนี้คือเคล็ดลับในการเตือนความจำให้กินยา PEP ทุกวันจนครบเดือน
– ตั้งเวลาบนมือถือให้เตือนกินยาเวลาเดียวกันทุกวัน
– กินยาเวลาเดียวกันทุกวัน (เช่น หลังอาหารเช้าหรือหลังอาหารเย็น)
– วางยา PEP ไว้ใกล้ของที่ใช้ทุกวัน เพื่อให้นึกได้
– กินยา PEP ตอนแปรงฟัน และวางยาไว้ใกล้แปรงสีฟันเห็นง่าย
– เขียน P บนโพสต์อิทติดไว้ที่ตู้เย็นหรือกระดาน เพื่อเตือนความจำให้กินยาโดยไม่โฉ่งฉ่างเกินไป
– ถ้ามีแผนจะออกไปปาร์ตี้ข้างนอกยาวๆ ให้เอายา PEP ติดไปเผื่ออย่างเพียงพอ เผื่ออยู่ยาวไม่กลับบ้าน
– ให้คนที่ไว้ใจคอยเตือนให้กินยา
ในระหว่างกินยา PEP ใช้ยาอื่นได้ไหม
ยา PEP อาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่น (ยาที่แพทย์สั่ง อาหารเสริมและไวตามิน) และทำให้การทำงานของยา PEP เสียไป การเล่นยาในระหว่างที่กินยา PEP อาจมีความเสี่ยง เพราะอาจมีผลข้างเคียงที่เสริมกับผลข้างเคียงของยา PEP ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลที่สั่งยา PEP เกี่ยวกับยาอื่นที่คุณกำลังใช้หรือเสพ หรือวางแผนว่าจะใช้ ถ้าคุณต้องการจะไฮในขณะยังกินยา PEP อยู่ คุณควรปรึกษาหมอที่สั่งยา PEP
กินยา PEP ครบ 28 วันแล้ว ยังไงต่อ ?
เมื่อกินยา PEP ครบแล้ว ควรไปพบหมอหรือกลับมาหาเรา เพื่อตรวจเอชไอวี หมอจะประเมินความเสี่ยงและอาจแนะนำให้คุณเริ่มใช้ยา PrEP คุณควรตรวจเลือดซ้ำอีกครั้งหลังจากกินยา PEP ครบแล้วสามเดือนเพื่อยืนยันสถานะเอชไอวีของคุณ