คุณอาจไม่เชื่อว่า ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีจำนวนมากกว่าภูมิภาคอื่นใดเป็นรองก็แต่ทวีปแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮาร่าเท่านั้น
ในปี 2019 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี 5.8 ล้านคน และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณ 300,000 คนในปีเดียว เมื่อเปรียบเทียบกับ 170,000 คน ในยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง และ 120,000 คนใน ละตินอเมริกา
ประเทศจีน อินเดีย และอินโดนีเซีย สามประเทศรวมกัน มีผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีเกือบ 75% ของทั้งหมดภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ถึงแม้ว่าการกระจายของเชื้อไวรัสเอชไอวีในภูมิภาคของเราจะแตกต่างกันมาก แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่าในภาพรวมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังตามหลังทวีปแอฟริกาในการรับมือกับเอชไอวี
ในบางประเทศเช่น บังคลาเทศ ปากีสถาน และฟิลิปปินส์ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคเกี่ยวกับเอดส์กำลังเพิ่มขึ้นทุกปี
อัตราการพุ่งสูงสุดคือประเทศฟิลิปปินส์ ที่มีการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อรายใหม่จากปี 2010 ถึงปี 2018 คิดเป็น 200% ตามมาด้วยปากีสถาน (57% ) บังคลาเทศ (56%) อัฟกานิสถาน (49%) และปาปัวนิวกินี (26%)

เนื่องในวันเอดส์โลก (1 ธันวาคม) บทความทั้งหมดประจำสัปดาห์นี้จะเป็นเรื่องราวล่าสุดเกี่ยวกับเอชไอวีและผลกระทบต่อพวกเราทุกคน ถ้าคุณชอบงานของเรา อย่าลืมกดไลค์และฟอลเราทางสื่อโซเชียล (IG: @asiadotgay, และ FB: asiadotgay). นอกจากนี้ยังสามารถสนับสนุนงานของเราได้ด้วยการบริจาคเพื่อช่วยเราถ่ายทอดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับเอชไอวีในหลากหลายภาษาทั่วทวีปเอเชีย
กลุ่มประชากรผู้ได้รับผลกระทบหลัก
ในกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยง ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย ยังเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางมากที่สุดต่อการได้รับเชื้อ โดยนับเป็นประมาณ 30% ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ในปี 2018
ความชุกของเอชไอวีนั้นสูงเป็นพิเศษในเขตเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพ ย่างกุ้ง และยอกยากาตาร์ โดยผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายติดเชื้อเอชไอวีตั้งแต่ 20 ถึง 29% นอกจากนี้กลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยง ได้แก่ ผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด ผู้หญิงข้ามเพศหรือสาวประเภทสอง พนักงานบริการ และแรงงานข้ามชาติ
โครงการทดสอบเอชไอวีและมาตรการป้องกันอื่นๆ
การวินิจฉัยล่าช้ายังเป็นอุปสรรคสำคัญในการต่อสู้กับเชื้อเอชไอวี ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีแค่ประมาณ 69% รู้สถานะของตัวเองในปี 2018 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 58% ในปี 2015 แต่ตัวเลขนี้หมายความว่า ยังมีคนอีกเกือบ 2 ล้านคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองมีเชื้อเอชไอวี
ภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ตัวเลขนี้มีความแตกต่างกันมาก ตัวอย่างเช่น ในประเทศไทยเกือบ 95% ของผู้อยู่ร่วมกับเชื้อรู้สถานะของตัวเอง ในขณะที่บังคลาเทศมีผู้รู้สถานะของตัวเอง 37% และในปากีสถาน 14%
เมื่อพูดถึงบริการตรวจหาเชื้อเอชไอวี มีสิ่งที่พบคล้ายกันหลายอย่าง
คนจำนวนมากในภูมิภาคนี้ยังถูกตีตรา เลือกปฏิบัติ และลงโทษทางอาญา ทำให้ไม่กล้าไปพบแพทย์ และยังมีอีกหลายประเทศที่การเป็นเกย์นั้นมีความผิดอาญา
สำหรับคนส่วนใหญ่ การใช้ถุงยางอนามัยยังเป็นวิธีหลักในการป้องกันเชื้อเอชไอวี ซึ่งก็มีได้ผลค่อนข้างดี อย่างไรก็ดี การศึกษาในปี 2018 ในประเทศบังคลาเทศ อินโดนีเซีย ลาว เนปาล ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม พบว่าจากผู้เข้าร่วมที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ทั้งหมด 3400 คน 43% ไม่ใช้ถุงยางอนามัยเป็นประจำกับคู่ของตน
และพบว่าผู้เข้าร่วมการศึกษาจากฟิลิปปินส์มีอัตราพฤติกรรมเสี่ยงสูงที่สุด ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการที่ประธานาธิบดีดูเตร์เต้ของฟิลิปปินส์ไม่สนับสนุนการใช้ถุงยางอนามัย โดยพูดว่าเหมือนกับการกินขนมทั้งที่มีถุงหุ้มอยู่
แล้วยังไงต่อ
สำหรับภูมิภาคที่กว้างใหญ่อย่างเอเชียเปซิฟิกนี้ การระบาดของเอชไอวีอาจดูเหมือนซับซ้อนและสับสน แต่มีเรื่องหลักๆ ที่ควรให้ความใส่ใจคล้ายกัน เช่น การแพร่กระจายของเชื้อเพิ่มขึ้นในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและผู้หญิงข้ามเพศ เป็นต้น ในบางภูมิภาคของเอเชีย ยังมีความท้าทายในด้านการตรวจหาเชื้อและการรักษาที่ยังมีความครอบคลุมต่ำอยู่
อีกเรื่องคือการขาดนโยบายระดับชาติสนับสนุน
เมื่อขาดสิ่งเหล่านี้ ประชากรที่มีความเสี่ยง ก็จะประสบกับการตีตราและการเลือกปฏิบัติต่อไป ทำให้ไม่อยากไปใช้บริการป้องกันและรักษาเชื้อเอชไอวี ดังนั้น การขจัดกฎหมายและบรรทัดฐานทางสังคมเพศที่เป็นอันตราย จึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการรับมือกับเชื้อเอชไอวีในภูมิภาคนี้อย่างได้ผล