รีน่า จันทร์อำนวยสุข ลงจากรถไฟฟ้าที่สุขุมวิทใจกลางแหล่งช็อปปิ้งที่คราคร่ำไปด้วยผู้คน เมื่อเธอเงยหน้าขึ้น หัวใจของเธอก็ปลาบปลื้มยินดีที่ได้เห็นป้ายโฆษณาเหนือชานชลารถไฟฟ้า
ป้ายโฆษณาเชิญชวนให้ใช้ PrEP นั้นเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญทั่วกรุงเทพเพื่อสร้างความตระหนักและเพิ่มการใช้ PrEP ในกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศ โดยแสดงภาพชีวิตของผู้หญิงข้ามเพศสี่คนที่ยุ่งกับงาน ควบคู่ไปกับการเป็นแม่และใช้ชีวิตคู่กับแฟน ในขณะที่ยังสามารถดูแลสุขภาพของตัวเองได้ด้วยการกิน PrEP (pre-exposure prophylaxis) เป็นประจำทุกวัน
สำหรับรีน่าซึ่งเป็นนักส่งเสริมสิทธิคนข้าม เพศและผู้อำนวยการโครงการสุขภาพคนข้ามเพศที่สถาบันวิจัยและนวัตกรรมเอชไอวี (IHRI) แล้ว แคมเปญรณรงค์ให้ผู้หญิงข้ามเพศใช้ PrEP ครั้งแรกในประเทศไทยนี้เป็นนิมิตหมายอันดีสำหรับการแก้ไขปัญหาเอชไอวีในประเทศไทย
รีน่ากล่าวว่า “แคมเปญ PrEP ในอดีตที่ผ่านมามักมุ่งไปที่กลุ่มประชากรหลักอื่นๆ โดยเฉพาะชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและเกย์ ส่วนผู้หญิงข้ามเพศมักจะไม่อยู่ในแคมเปญรณรงค์ หรือสื่อประชาสัมพันธ์การใช้ PrEP ในอดีต”
อัตราความชุกของเอชไอวีในประชากรข้ามเพศในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 11% ในปี 2018 และไม่มีทีท่าว่าาจะลดลงในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ส่วนอัตราการใช้ PrEP ในกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศนั้นอยู่ที่แค่ 7% ทำให้เป็นประชากรที่มีความเสี่ยงเป็นพิเศษ
มีคนข้ามเพศน้อยกว่าครึ่ง (42%) ที่บอกว่ารู้สถานะเอชไอวีของตนเอง ในขณะที่บริการสุขภาพที่จำเพาะเจาะจงสำหรับคนข้ามเพศก็ยังมีอยู่จำกัด
และความตระหนักและความรู้เกี่ยวกับ PrEP ที่ยังจำกัดนี้ ก็ทำให้มีอัตราการใช้ PrEP ต่ำ
กลยุทธ์ของแคมเปญนี้จึงมุ่งที่จะเปลี่ยนกรอบการพูดคุยเกี่ยวกับการใช้ PrEP และลบล้างความรู้สึกแง่ลบเกี่ยวกับ PrEP ในประชากรข้ามเพศ
รีน่ากล่าวว่า “ผู้หญิงข้ามเพศที่มีความรู้เกี่ยวกับ PrEP จำนวนหนึ่งไม่อยากใช้ PrEP เพราะถูกมองว่ามีพฤติกรรมเสี่ยงหรือพฤติกรรมแง่ลบ ในสังคมไทย เพราะถ้าใช้ PrEP จะถูกมองว่ามีคู่หลายคน เป็นพนักงานบริการ หรือมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน”
โน๊ต ผู้ใช้บริการคลินิกแทนเจอรีน ซึ่งเป็นคลินิกสุขภาพทางเพศโดยเฉพาะสำหรับคนข้ามเพศแห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ให้บริการเกี่ยวกับการข้ามเพศและบริการสุขภาพอื่นๆ อย่างบูรณาการ กล่าวเกี่ยวกับความคิดของคนทั่วไปเกี่ยวกับ PrEP ว่า “เวลากิน PrEP ต้องระวังไม่ไม่ให้ใครเห็น เพราะบางครั้งคนจะกลัวและคิดว่าป่วย”
เป้าหมายอย่างหนึ่งของแคมเปญนี้คือ การทำให้การใช้ PrEP เป็นเรื่องปกติ และส่งเสริมการใช้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะการศึกษาแสดงให้เห็นว่าเกือบครึ่งหนึ่งของผู้หญิงข้ามเพศ (46%) ในประเทศไทยไม่กลับมารับ PrEP อีกหลังจากเริ่มใช้ไปแล้วหนึ่งเดือน
โน๊ตกล่าวว่า “แคมเปญนี้ต้องการทำให้การใช้ PrEP เป็นเหมือนการกินวิตามินหรืออาหารเสริมเพื่อสุขภาพ และขจัดภาพพจน์ที่ว่า PrEP นั้นเหมาะสำหรับคนแค่บางกลุ่ม ทั้งที่จริงแล้วใครๆ ก็สามารถใช้ได้”
ป้ายโฆษณาของแคมเปญนี้ปรากฏอยู่ทั่วกรุงเทพ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือกันกับกทม. และความมุ่งมั่นของกทม. ในการที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายยุติเอดส์อย่างเร่งด่วน
ส่วนในพื้นที่ออนไลน์ IHRI ได้รับความร่วมมือจากอินฟลูเอนเซอร์ทางโซเชียลมีเดีย บล็อกเกอร์ และผู้นำความคิดในชุมชนข้ามเพศในการร่วมแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนี้
จิรัชยา ศิริมงคลนาวิน หรือ “โม” กล่าวว่า “ดิฉันรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ เพราะทำให้คนได้เห็นภาพและศักยภาพของผู้หญิงข้ามเพศอย่างเราในอีกแง่มุมหนึ่ง” โมเป็นนางแบบและบล็อกเกอร์ด้านความงามที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้และยังเป็นอดีตมิสควีนอินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นหนึ่งในเวทีประกวดผู้หญิงข้ามเพศที่ใหญ่ที่สุดของโลก
เธอยังกล่าวอีกว่า “โครงการนี้กระตุ้นให้ทมีการพูดคุยกันมากขึ้นเกี่ยวกับเซ็กซ์และการป้องกันเอชไอวี”
การส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านบวกของผู้หญิงข้ามเพศไทยก็เป็นประเด็นแบ็คกราวน์ของแคมเปญนี้
โน๊ตกล่าวว่า “ดิฉันคิดว่าเรื่องราวในวิดีโอจะช่วยให้คนส่วนใหญ่ได้เห็นถึงความหลากหลายของผู้หญิงข้ามเพศในสังคมทุกวันนี้ เพราะผู้หญิงข้ามเพศมีอาชีพและความสามารถที่แตกต่างหลากหลาย”
ในระหว่างการเปิดตัวแคมเปญนี้ รองรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข นายสาธิต ปิตุเตชะ กล่าวถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการรหนุนเสริมการแก้ไขปัญหาเอชไอวี โดยกล่าวว่า “กระทรวงสาธารณสุขมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับชุมชนและภาคประชาสังคมในการส่งเสริมการเข้าถึงบริการเอชไอวีและบริการด้านสุขภาพอื่นๆ สำหรับคนข้ามเพศ”
รีน่ารู้สึกภูมิใจกับเสียงตอบรับต่อแคมเปญนี้ ซึ่งถูกนำไปเผยแพร่อย่างกว้างขวางทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน
เธอหวังว่า แคมเปญนี้ซึ่งมุ่งเน้นประชากรผู้หญิงข้ามเพศโดยเฉพาะนี้จะไม่เป็นครั้งสุดท้าย และเชื่อว่าจะเป็นต้นแบบให้กับแคมเปญที่มุ่งเน้นไปยังกลุ่มประชากรหลักอื่นๆ ต่อไปในอนาคต
บทความนี้มาจาก UNAIDSซึ่งเป็นหน่วยงานสหประชาชาติที่ทำงานในด้านการยุติเอดส์ภายในปี 2030 เพื่อไม่ให้เป็นภัยด้านสาธารณสุขอีกต่อไป