ด็อกเตอร์เลิฟครับ การซ่อมเพศ (Conversion Therapy) ได้ผลจริงหรือเปล่าครับ?

Written by:

Dr Love

Dr Love

Dr Love is an expert on sexual health and well-being, and believes everyone can have a healthy and fulfilling sex-positive life. Have questions? Send them to askdrlove@asia.gay.

Share:

Share on facebook
Share on twitter
Share on whatsapp
Share on linkedin
Share on telegram

ADVERTISMENT

ผมเคยเจอแม่หลายคนที่พาลูกชายมาให้ผมช่วยรักษาลูกให้หายเป็นเกย์ จริงๆแล้วผมอยากให้ลูกบอกกับแม่ว่า “แม่ครับ คนเดียวที่ควรต้องเปลี่ยนก็คือแม่นั่นแหละ”

แน่นอนว่า ผมไม่ได้พูดออกไป เพียงแค่คิดในใจเท่านั้น

ทำความเข้าใจเพศวิถี (Sexuality)

สมาคมจิตวิทยาอเมริกันนิยามเพศวิสัย (Sexual orientation) ว่าคือ ความรู้สึกดึงดูดทางอารมณ์ ความรัก หรือความใคร่ต่อผู้ชาย ผู้หญิง หรือทั้งสองเพศก็ได้ แต่เพศวิสัยนั้นไม่ใช่พฤติกรรมทางเพศ เพศวิสัยเป็นความรู้สึกดึงดูดที่อยู่ภายใน ส่วนเพศวิถี (sexuality) เป็นทั้งความรู้สึกดึงดูดและพฤติกรรมรวมกัน ในขณะที่บางคนอาจมีคำที่ใช้นิยามตัวเอง แต่บางคนก็อาจไม่นิยามตัวเองว่าเป็นอะไร

มีการศึกษาที่แสดงว่าเพศวิสัยนั้นเริ่มปรากฏขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางของวัยเด็กไปจนถึงช่วงเริ่มเป็นวัยรุ่น โดยเพศวิสัยเป็นตัวกำหนดความดึงดูดทางเพศ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะแสดงออกมาในรูปพฤติกรรมเสมอไป เนื่องจากพฤติกรรมได้รับอิทธิพลอย่างมากจากทั้งครอบครัว ความสัมพันธ์ หรือสังคมโดยรวม

พูดอีกอย่างหนึ่งคือ เป็นไปได้ที่คนจะรู้สึกดึงดูดต่อเพศเดียวกันโดยไม่ทำอะไรออกมา นั่นคือบางคนสามารถใช้ชีวิตแบบคู่ ชายหญิงอย่างสมบูรณ์ได้เหลายสิบปี ก่อนจะเริ่มมีความสัมพันธ์กับเพศเดียวกันได้เต็มตัวเมื่อลูกๆ ออกจากบ้านไปเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว

เปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน

ในปี 1973 บอร์ดผู้บริหารสมาคมจิตวิทยาอเมริกันลงคะแนนเสียงให้ถอดการรักเพศเดียวกันออกจากคู่มือการวินิจฉัยและสถิติเกี่ยวกับความผิดปกติทางจิต ซึ่งทำให้การรักเพศเดียวกันไม่ถูกจัดว่าเป็นโรคจิตอีกต่อไป

แต่ยังมีผู้นำทางศาสนาจำนวนไม่น้อย ตลอดจนผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพจิตที่ประกาศหนุนว่าการซ่อมเพศ (Conversion therapy) สามารถเปลี่ยนเพศวิสัยจากรักเพศเดียวกันไปเป็นรักต่างเพศได้ สมาคมการวิจัยและบำบัดการรักเพศเดียวกันของสหรัฐอเมริกา ยังกล่าวสนับสนุนว่าการรักเพศเดียวกันสามารถรักษาได้ด้วยการจัดการความรู้สึกรักเพศเดียวกันที่ไม่พึงประสงค์

แต่การซ่อมเพศไม่ได้ผล เนื่องจากสาเหตุต่างๆ ดังต่อไปนี้:

ขาดหลักฐานรับรอง

ไม่มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือใดๆ ที่สนับสนุนข้ออ้างว่าการซ่อมเพศสามารถเปลี่ยนเพศวิสัยได้ รายงานปี 2009 ของคณะทำงานสมาคมจิตวิทยาอเมริกันพบว่า ผลการวิจัยที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้ว่า “ไม่น่าเป็นไปได้ที่คนจะสามารถลดความรู้สึกดึงดูดต่อเพศเดียวกันหรือเพิ่มความรู้สึกดึงดูดต่อเพศตรงข้ามได้ด้วยการพยายามเปลี่ยนเพศวิสัย [sexual orientation change efforts]”

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ อดีตผู้นำหลายคนของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า อดีตเกย์ (ex-gay) ได้ออกมาประกาศว่าการซ่อมเพศนั้นไม่ได้ผลทั้งในอดีตและในปัจจุบัน

การซ่อมเพศยังอาจเป็นอันตรายจากการตอกย้ำภาพเหมารวม

ทัศนคติเชิงลบเกี่ยวกับการรักเพศเดียวกันเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การเลือกปฏิบัติ การวิจัยโดยมหาวิทยาลัยซานฟรานซิสโก เกี่ยวกับการยอมรับเยาวชนสีรุ้งของครอบครัว พบว่า เมื่อเปรียบเทียบกับเยาวชนสีรุ้งที่ไม่ถูกครอบครัวปฏิเสธเนื่องจากอัตลักษณ์การเป็นเกย์หรือข้ามเพศ หรือถูกปฏิเสธเพียงเล็กน้อยแล้ว เยาวชนสีรุ้งที่ถูกปฏิเสธอย่างรุนแรงนั้น:

ก. มีความเป็นไปได้ที่จะฆ่าตัวตายมากขึ้นแปดเท่า
ข. มีความเป็นไปได้ที่จะซึมเศร้าสูงมากขึ้นหกเท่า
ค. มีความเป็นไปได้ที่จะใช้ยาเสพติดมากขึ้นเกินสามเท่า
ง. มีความเป็นไปได้ที่จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากขึ้นเกินสามเท่า

การซ่อมเพศเป็นการซ้ำเติมความรู้สึกอับอายและการตีตราที่เยาวชนสีรุ้งต้องเผชิญอยู่ก่อนหน้าแล้ว พ่อแม่ที่พยายามจะเปลี่ยนเพศวิสัยหรืออัตลักษณ์ทางเพศของลูก จะยิ่งไปซ้ำเติมความรู้สึกว่าถูกครอบครัวปฏิเสธและเพิ่มความเสี่ยง ซึ่งสามารถทำให้ความสัมพันธ์กับลูกแตกหักลงได้

การศึกษาในปี 2018 โดยโครงการศึกษาการยอมรับของครอบครัวพบว่า

ก. อัตราการพยายามทำร้ายตัวเองของเยาวชนสีรุ้งที่พ่อแม่พยายามจะเปลี่ยนเพศวิสัย (48%) สูงกว่าอัตราของเยาวชนสีรุ้งที่ไม่ต้องผ่านประสบการณ์ซ่อมเพศ (22%) ถึงเท่าตัว

ข. สำหรับเยาวชนสีรุ้งที่บอกว่าเคยถูกพยายามเปลี่ยนเพศวิสัยทั้งที่บ้านและภายนอกครอบครัว มีอัตราการพยายามฆ่าตัวตายเพิ่มเป็นสามเท่า (63%).

ค. อัตราการซึมเศร้าสูงเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า สำหรับเยาวชนสีรุ้งที่พ่อแม่พยายามเปลี่ยนเพศวิสัย (33%) เมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนที่ไม่ต้องผ่านการซ่อมเพศ (16%) และเป็นสามเท่า (52%) สำหรับเยาวชนสีรุ้งที่เคยถูกพยายามเปลี่ยนเพศวิสัยทั้งที่บ้านและภายนอกครอบครัว

ง. การผ่านประสบการณ์บังคับให้เปลี่ยนเพศวิสัยในช่วงวัยรุ่นทั้งจากพ่อแม่ผู้ปกครองและภายนอกครอบครัวโดยนักบำบัดและผู้นำศาสนามีความสัมพันธ์กับสถานะทางเศรษฐสังคมต่ำ ความสำเร็จทางการศึกษาต่ำ และรายได้ต่อสัปดาห์ต่ำ

ยอมรับสิ่งที่ตัวเองเป็น

บางคนยอมรับการรักเพศเดียวกันได้ง่าย ส่วนบางคนอาจยอมรับได้ยากกว่า มีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อประสบการณ์ว่าจะออกมาในแง่บวกหรือแง่ลบ การกลัวการปฏิเสธของครอบครัว ถูกเลือกปฏิบัติ หรือถูกเปิดเผยตัวตนเพิ่มความเครียดทำให้สถานการณ์ที่ยากลำบากอยู่แล้วแย่ลงไปอีก การยอมรับตนเองเป็นขั้นตอนทางจิตวิทยาที่สำคัญและเป็นกระบวนการที่ดำเนินต่อเนื่องไม่สิ้นสุด

เราจะให้คนอื่นยอมรับตัวเราได้อย่างไรถ้าเราไม่ยอมรับตัวเอง? มีขั้นตอนในการยอมรับอยู่หลายขั้นตอน เพื่อให้เราสามารถมีชีวิตอย่างมีสุขภาพที่ดีได้ในฐานะเป็นชายรักชาย ซึ่งเริ่มต้นจากการยอมรับตัวเอง หลังจากนั้นค่อยขยายไปสู่การยอมรับจาก ครอบครัว เพื่อนสนิท ที่ทำงาน และสังคมที่เหลือ

บางอย่างคุณอาจควบคุมไม่ได้ แต่คุณควบคุมชีวิตของตัวเองได้

โปรดระลึกว่าคุณไม่ได้อยู่ลำพัง และมีที่ที่คุณสามารถขอความช่วยเหลือได้ ถ้าอยากคุยกับผม คุณสามารถเขียนมาคุยกับผมได้ที่ askdrlove@asia.gay.