ติดเชื้อเอชไอวีจากออรัลเซ็กส์ได้จริงมั้ย แม้จะมีการศึกษาเกี่ยวกับเอชไอวีมาแล้วกว่า 35 ปี แต่น่าหงุดหงิดที่คำถามนี้กลับยังฟันธงไม่ได้ ผู้เชี่ยวชาญเกือบทุกคนและเกือบทุกเว็บไซต์ต่างให้คำตอบเดียวกัน คือความเสี่ยงต่ำมากแต่ไม่ใช่ศูนย์ แล้วกระโดดข้ามไปพูดถึงวิธีป้องกันต่างๆ ในการมีออรัลเซ็กส์ เช่น ถุงยางอนามัย หรือเดนทัลแดม
แม้ว่าทั้งหมดนี้จะเป็นคำแนะนำที่ดี แต่ก็ไม่ได้ตอบคำถามของเราเลย ดังนั้นในบทความนี้ผมจะพยายามให้ข้อมูลและรายละเอียดมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ครับ
ทฤษฎีกับข้อมูล
มีทฤษฎีมากมายเกี่ยวกับการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีผ่านออรัลเซ็กส์ ทุกคนเห็นตรงกันว่าเป็นไปได้ในทางทฤษฎี ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่าการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีผ่านออรัลเซ็กส์เป็นไปได้ในทางชีววิทยา
วิธีคิดก็ตรงไปตรงมา เชื้อเอชไอวีพบได้ในน้ำอสุจิและของเหลวจากช่องคลอด ถ้าเข้าไปสัมผัสกับเยื่อบุในช่องปาก ก็สามารถติดเชื้อเอชไอวีได้ แถมยังมีทฤษฎีมากมายว่า แผลในปาก โรคเหงือก รอยขีดข่วนบนเหงือก การทำฟันยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อเอชไอวีด้วย
แต่ก็ยังมีทฤษฎีอีกเยอะว่าทำไมการติดเชื้อเอชไอวีจากออรัลเซ็กส์เป็นไปไม่ได้ ซึ่งมีตั้งแต่ทฤษฎีว่าน้ำลายมีสารเคมีและแอนติบอดีต่างๆ มากมายที่ทำให้เชื้อไวรัสหมดฤทธิ์ หรือน้ำลายนั้นมีความเจือจางมากจึงมีพลังงานศักย์ดูดเชื้อไวรัสให้แตก หรือว่าน้ำลายมีอัตราไหลสูงจนชะเอาไวรัสออกไปหมดก่อนจะมีโอกาสติดเชื้อ
สำหรับผมแล้ว ผมคิดว่าเราคงอภิปรายทฤษฎีได้ทั้งวันแต่ก็ยังไม่ตอบคำถามอยู่ดี ผมชอบดูข้อเท็จจริงมากกว่า และจะทำอย่างนั้นในบทความนี้ด้วย
อย่างแรก เราลองมาดูกันว่าหน่วยงานด้านสุขภาพที่ได้รับการยอมรับ พูดอย่างไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้
ASHM – ประมาณความเสี่ยงไม่ได้ ต่ำมาก
US CDC – ต่ำ
BHIVA – “< 1 ใน 10,000”
Alberta Health – ต่ำแต่ไม่ใช่ศูนย์ (0.01%)
New York Health – ต่ำ เคยมีการบันทึกการติดเชื้อเอชไอวี แต่พบได้ยากมาก ไม่มีค่าประมาณความเสี่ยงที่แม่นยำ ควรพิจารณาใช้ PEPสำหรับผู้ที่เป็นฝ่ายใช้ปากหากมีการหลั่งภายในปาก แต่ควรพูดถึงความเสี่ยงที่ต่ำด้วย
ความเห็นสุดท้ายนี้ทำให้ผมสนใจ ว่าเคยมีเคสการติดเชื้อเอชไอวีจากออรัลเซ็กส์ที่บันทึกไว้ในทางการแพทย์จริงหรือ
รายงานการติดเชื้อเอชไอวีจากออรัลเซ็กส์
ผมเลยลองไปขุดหาข้อมูลดู ใช่จริงๆ มีกรณีรายงานการติดเชื้อเอชไอวีผ่านออรัลเซ็กส์ที่ตีพิมพ์ในช่วงปี 1980 และ 1990 ซึ่งทั้งหมดนี้มาจากการให้ข้อมูลของผู้ป่วยเองว่าไม่ได้มีเพศสัมพันธ์อย่างอื่นนอกจากออรัลเซ็กส์ แต่ไม่มีการตรวจยืนยันทางพันธุกรรม
ขอโทษนะครับ เรามาย้อนกลับไปหน่อย มาตรฐานในการพิสูจน์การถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีนั้นไม่ใช่แค่ประวัติสัมผัสเชื้อ แต่ต้องตรวจพบว่าเชื้อไวรัสเอชไอวีในทั้งสองคนมีพันธุกรรมตรงกัน นี่คือวิธีที่ทำให้เราค้นพบว่าการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีระหว่างผู้หญิงด้วยกันเป็นไปได้
เพราะมีกรณีรายงานว่าคู่หญิงรักหญิงที่มีสถานะเอชไอวีต่างกัน (คือคนหนึ่งมีเชื้อเอชไอวีแต่อีกคนหนึ่งไม่มี) หลังจากนั้นคนที่ไม่มีเชื้อเอชไอวีก็ติดเชื้อเอชไอวีด้วย และการศึกษาพันธุกรรมพบว่าเชื้อเอชไอวีที่เธอติดนั้นมีพันธุกรรมตรงกับเชื้อเอชไอวีที่แฟนเธอมี
แต่ผมกลับไม่เจอรายงานแบบนี้สำหรับการถ่ายทอดเชื้อผ่านออรัลเซ็กส์
ทั้งหมดเป็นการรายงานเคส คือหมอเป็นผู้รายงาน ซึ่งอย่างดีก็ถือได้ว่าเป็นหลักฐานแบบเรื่องเล่าเท่านั้น
แล้วมีการศึกษาขนาดใหญ่มั้ย
ผมเลยลองค้นหาการศึกษาขนาดใหญ่เกี่ยวกับการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีผ่านออรัลเซ็กส์ แต่ก็อ่านไม่เจอการศึกษาใดเลยที่ยืนยันการถ่ายทอดเอชไอวีผ่านออรัลเซ็กส์ แต่เป็นการใช้แบบจำลองทางคณิตศาสเพื่อคำนวณความเสี่ยงทางทฤษฎีทั้งหมด
ที่จริงแล้ว การศึกษาหนึ่งในปี 2002 กับคู่ชายหญิง 135 คู่ที่มีสถานะเอชไอวีต่างกัน และมีออรัลเซ็กส์แบบไม่ ป้องกัน กลับไม่พบว่ามีการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีเลยแม้แต่ครั้งเดียวจากการใช้ปากกับผู้มีเชื้อทั้งหมดประมาณ 19,000 ครั้ง
ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งในปี 2002 กับชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย 239 คน ซึ่งทั้งหมดมีออรัลเซ็กส์อย่างเดียวเป็นเวลาหกเดือน และ 28% มีคู่ที่รู้ว่ามีเชื้อเอชไอวี แต่ก็ไม่พบการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีเลยแม้แต่รายเดียวเช่นกัน
ตัวเลขที่คุณอาจผ่านหูผ่านตาบ่อยที่สุดคือ 0.04% สำหรับความเสี่ยงของการติดเชื้อเอชไอวีสำหรับผู้ใช้ปากทำออรัลเซ็กส์ในกลุ่มชายรักชาย ซึ่งตัวเลขนี้จริงๆ แล้วมาจากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในปี 1999
ซึ่งเป็นการศึกษาในกลุ่มชายรักชายและไบ “ความเสี่ยงสูง” ในสหรัฐอเมริกา จำนวน 2189 คน ตั้งแต่ปี 1992- 1994 ในกลุ่มนี้พบว่ามีการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ 60 คน จากการใช้แบบจำลองทางคณิตศาตร์ ความเสี่ยงของการใช้ปากทำออรัลเซ็กส์กับผู้มีเชื้อเอชไอวีหรือไม่ทราบสถานะอยู่ที่ประมาณ 0.04% ต่อครั้ง แต่ไม่มีเคสไหนที่พิสูจน์ว่าเป็นการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีผ่านออรัลเซ็กส์ เป็นแค่ความเสี่ยงที่ประมาณจากการใช้แบบจำลองทางสถิติเท่านั้น
ในปี 2014 มีการทบทวนอย่างเป็นระบบและตีพิมพ์ในวารสาร AIDS เพื่อศึกษาความเสี่ยงของการติดเชื้อเอชไอวีต่อครั้ง และมีส่วนหนึ่งที่อภิปรายได้ดีเกี่ยวกับความเสี่ยงของออรัลเซ็กส์ นอกจากนี้ยังพิจารณาการศึกษา 0.04% ที่กล่าวไปแล้วด้วย
นี่คือประเด็นอื่นๆ จากการทบทวนการศึกษานี้
- US CDC ประมาณความเสี่ยงของการติดเชื้อทางออรัลเซ็กซ์ด้วยการอนุมานจากข้อมูลการมีเพศสัมพันธ์แบบองคชาต-ช่องคลอด (ไม่ใช่จากเคสการถ่ายทอดเชื้อผ่านทางออรัลเซ็กส์จริงๆ)
- การศึกษาในสเปนตั้งแต่ปี 1990-2000 ในกลุ่มคู่ชายหญิงที่มีสถานะเอชไอวีต่างกันพบว่า ไม่มีการติดเชื้อเอชไอวีจากออรัลเซ็กส์ทั้งหมด 8965 ครั้ง
- การศึกษาในกลุ่มหญิงรักหญิงพบว่าไม่มีการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากออรัลเซ็กส์
การศึกษานี้ยอมรับว่า “ไม่สามารถประเมินตัวเลขความเสี่ยงที่ชัดเจนได้” สำหรับออรัลเซ็กส์แล้วไม่พบการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี แม้ว่าจะมีออรัลเซ็กส์จำนวนครั้งมหาศาล ทั้งนี้ใช้วิธี Clopper-Pearson exact binomial ช่วงค่าความมั่นใจ 95% จากแบบจำลองทางสถิติพบว่า ความเสี่ยงการติดเชื้อเอชไอวีจากออรัลเซ็กส์อยู่ระหว่าง 0-4 ใน 10,000 ที่ค่าความมั่นใจ 95%
อีกแล้ว เลข 0.04%
แน่นอนว่า ยังมีการศึกษาและการรายงานเคสอีกมากมายเกี่ยวกับการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี ผมคงอ่านไม่ได้หมด แต่ที่ผมพบคือ :
- เท่าที่รู้ ยังไม่เคยมีเคสการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากออรัลเซ็กส์ที่พิสูจน์ตรวจพันธุกรรมของเชื้อแม้แต่รายเดียว
- ตัวเลขความเสี่ยงทั้งหมดที่ยกมาเป็นค่าประมาณจากแบบจำลองทางคณิตศาสตร์
ไม่สามารถพิสูจน์ความไม่มีอยู่
หัวใจของปัญหาอยู่ที่นี่เอง เรารู้ว่าการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากออรัลเซ็กส์นั้นเป็นไปได้ในทางชีววิทยา ดังนั้น แม้เราจะไม่เคยพบเคสการถ่ายทอดเชื้อที่มีการยืนยัน ก็ไม่ได้พิสูจน์ว่าเป็นไปไม่ได้ เหมือนกับการไม่เคยเห็นเอเลี่ยน ก็ไม่ได้หมายความว่าเอเลี่ยนไม่มีจริง เพราะแน่นอนว่าเป็นไปได้ที่เอเลี่ยนอาจมีอยู่แม้เราจะไม่เคยเห็น
ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่สามารถพูดแบบฟันธงได้ด้วยความมั่นใจ 100% ว่าการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีผ่านออรัลเซ็กส์เป็นไปไม่ได้
ความรับผิดชอบของแพทย์
อีกสาเหตุที่ไม่มีหมอคนไหนบอกว่าการติดเชื้อเอชไอวีผ่านออร์เซ็กส์เป็นไปไม่ได้ ก็เพราะความรับผิดชอบของหมอต่อผู้ป่วย เพราะหมออยากให้ผู้ป่วยรักษาตัวให้ปลอดภัยอยู่เสมอ อยากให้มีสุขภาพดีและปราศจากโรค
ดังนั้น จึงง่ายและปลอดภัยกว่ามาก ถ้าจะบอกให้ใช้ถุงยางอนามัยและเดนทัลแดมเวลาใช้ปากทำออรัลเซ็กส์ แน่นอนว่า เราเข้าใจว่าอุปกรณ์เหล่านี้ทำให้สนุกน้อยลง แต่ก็ต้องเข้าใจว่าเวลาให้คำแนะนำผู้ป่วย แพทย์ต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยไว้ก่อน
ความคิดปิดท้าย
ถ้าคุณเพิ่งไปใช้ปากกับใครมาแล้วกังวลว่าจะติดเชื้อเอชไอวี ก็อย่ากังวลไปเลยครับ โอกาสที่คุณจะติดเชื้อจริงๆ นั้นใกล้ 0 มากเท่าที่อะไรจะใกล้ 0 ได้ แต่วิธีเดียวที่จะแน่ใจได้ 100% คือการไปตรวจเลือด
ถ้าคุณเจ็บคอหลังใช้ปากก็อย่ากังวลไป เพราะไม่น่าเกิดจากเชื้อเอชไอวี ถ้าเพิ่งผ่านไปไม่ถึง 72 ชั่วโมง ควรรีบไปหาแพทย์และปรึกษาว่าควรใช้ PEP หรือไม่